รอดาวน์โหลดสักครู่

yengo

ดีเดย์!! 10 ก.ค. 7 ขวบ ต้องมีบัตรประชาชน

เริ่ม10 กรกฎาคมนี้ พ่อแม่ต้องพาเด็กอายุ 7 ปีไปทำบัตรประชาชน มหาดไทยพร้อม 100% จัดโมบายเคลื่อนที่ให้บริการตาม โรงเรียน นักวิชาการชี้ด้านลบพ่อแม่เด็กลำบาก เสียเงิน-เวลาพาลูกไปทำบัตร เปิดช่องทุจริต คนต่างด้าวแฝงตัวทำบัตร ครูหยุยเสนอให้เด็กทำใบเหลืองแทนสมาร์ทการ์ด วอนประชาชนช่วยตรวจสอบเจ้าหน้าที่รัฐ 

หลังจากที่ พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2554 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาฉบับกฤษฎีกา เล่มที่ 128 ตอนที่ 34 ก วันที่ 11 พ.ค. 2554 โดยมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 60 วัน คือตั้งแต่วันที่ 10 ก.ค. 2554 เป็นต้นไป เป็นผลให้เด็กไทยอายุ ตั้งแต่ 7 ปีบริบูรณ์ ต้องมีบัตรประจำตัวประชาชนตามกฎหมาย ซึ่งคาดว่ามีเด็กกลุ่มเป้าหมายทั่วประเทศประมาณ 8 ล้านกว่าคน
สำหรับสาระสำคัญของกฎหมายดังกล่าว กำหนดให้ผู้มีสัญชาติไทยอายุตั้งแต่ 7 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่เกิน 70 ปี และมีชื่อในทะเบียนบ้าน ต้องทำบัตรประจำตัวประชาชน ส่วนกรณีเด็กอายุไม่ถึง 15 ปี สามารถยื่นคำขอมีบัตรด้วยตนเอง หรือให้บิดา มารดา ผู้ปกครอง ผู้ดูแล เป็นผู้ยื่นคำขอแทนก็ได้ ภายในกำหนด 1 ปี นับแต่กฎหมายมีผลบังคับใช้ หรือภายใน 10 กรกฎาคม 2555 ซึ่งหากไม่ยื่นขอมีบัตรภายในกำหนดเวลา ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 100 บาท
 
นายนิรันดร์ กัลยาณมิตร รองอธิบดีกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่าตอนนี้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้ทยอยส่งบัตรมาให้ที่กรมการปกครองประมาณ 25 ล้านใบแล้ว ดังนั้นเชื่อว่าบัตรสมาร์ทการ์ดจะมีจำนวนเพียงพอ พร้อมยืนยันว่าตอนนี้กรมการปกครองมีความพร้อม 100% ที่จะให้บริการ ซึ่งการเปิดให้บริการทำบัตรประชาชนเด็กอายุ7-14 ปี ช่วงนี้อาจทำให้มีคนมาทำบัตรกันจำนวนมาก ดังนั้นจะให้สำนักงานเขต ที่ว่าการอำเภอ ได้เปิดบริการวันเสาร์และวันอาทิตย์เพิ่มด้วย รวมถึงมีการเพิ่มส่วนสำนักงานเทศบาล พร้อมทั้งให้แต่ละท้องที่สำรวจจำนวนของเด็กว่าพื้นที่ใดมีเด็กมากที่สุด แล้วนำมาจัดเป็นแผนปฏิบัติ โดยจะมีการจัดชุดเจ้าหน้าที่พร้อมอุปกรณ์เข้าไป ทำบัตรประชาชนให้กับเด็กที่โรงเรียนเคลื่อนที่เพื่อเข้าไปบริการทำบัตรประชาชน ตามโรงเรียน อย่างไรก็ตามคาดว่าในแต่ละเดือน จะมีเด็กทำบัตรประมาณ 7 แสนใบ
สำหรับการทำบัตรประชาชนเด็กครั้งแรกจะเปิดให้ทำฟรีหมด ให้ระยะเวลาทำบัตร1ปี หากยื่นขอมีบัตรเกินกำหนดไม่ต้องเสียค่าปรับ หากมีการทำบัตรหาย ชำรุด เปลี่ยนชื่อสกุล โดยต้องขอทำบัตรใหม่ ถือว่าไม่ต้องเสียค่าปรับ แต่ผู้ปกครองจะเป็นผู้จ่ายให้ รวมถึงการถูกเรียกตรวจบัตร ถ้าไม่ได้พกไว้ก็ไม่ถือว่ามีความผิด นอกจานี้ ข้อดีของการมีบัตรตั้งแต่อายุ 7 ปีคือสะดวกต่อเด็กในการแสดงตัวตนโดยไม่ต้องพกพาทะเบียนบ้านหรือสูติบัตร ทำให้สามารถใช้สิทธิในรัฐสวัสดิการ ประกันสังคมได้ง่ายขึ้น รวมทั้งบรรเทาปัญหาการสวมสิทธิ์จากต่างด้าว
ด้าน นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ หรือครูหยุย มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก กล่าวเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคมว่า ที่ผ่านมาเคยให้เหตุผลคัดค้านมาตลอดว่าไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่จะบังคับให้เด็กอายุ 7 ปี ทำบัตรประจำตัวประชาชน กรมการปกครองอ้างจุดประสงค์เพื่อป้องกันการปลอมแปลงเอกสารสวมสิทธิ์สัญชาติ ไทยของบุคคลต่างด้าวนั้น ตนคิดว่าจะไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ สิ่งที่น่ากังวลคือ จะเปิดช่องให้มีการทุจริตโกงกินค่าทำบัตรสมาร์ทการ์ดของเด็กอายุระหว่าง 7-14 ปีที่มีอยู่ประมาณ 8 ล้านคน
อย่างไรก็ตาม เมื่อกฎหมายมีผลบังคับแล้ว พ่อแม่ผู้ปกครองที่ต้องพาลูกไปทำบัตรประชาชนช่วยกันตรวจสอบการทำงานภาครัฐ ให้ดี เพราะเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอและจะมีการฉวยโอกาสหาผลประโยชน์จากกลุ่มเด็ก ต่างด้าวที่แฝงตัวทำบัตรประชาชนกันอย่างมาก ส่วนเหตุผลที่บังคับเด็ก 7 ปีทำบัตรประชาชนเพื่อประโยชน์ในการเข้ารับบริการสาธารณะของรัฐนั้น ก็ไม่จำเป็นด้วย เพราะทุกวันนี้เด็กที่ใช้บริการต่างๆ จากรัฐ เช่น การรักษาพยาบาล การเข้าสถานศึกษา ก็สามารถใช้หลักฐานสำเนาทะเบียนบ้านหรือสูติบัตรมาแสดงได้อยู่แล้ว และเมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว ก็อยากเสนอว่าแทนที่จะทำบัตรสมาร์ทการ์ด ก็ให้เปลี่ยนมาทำใบเหลืองที่ใช้กันอยู่แล้ว เพื่อป้องกันข้อครหาว่าจะมีการทุจริต
ขณะที่ นายสรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก กล่าวว่า กฎหมาย มีผลบังคับให้เด็กอายุ 7 ปี ทำบัตรประชาชนตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคมนี้ ส่งผลกระทบต่อพ่อแม่เด็กได้รับความลำบาก ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลจากตัวอำเภอก็ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายใน การเดินทางไปทำบัตรประชาชน อีกทั้งหน่วยงานรัฐก็ต้องระดมเจ้าหน้าที่มาถ่ายรูปทำบัตรประชาชน แต่ก็ไม่สามารถป้องกันการสวมสิทธิ์สัญชาติไทยได้ เพราะรูปร่างใบหน้าเด็กอายุ 7-14 ปี จะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้อาจจะต้องกำหนดช่วงเวลาทำบัตรหลายครั้ง
 
ด้าน รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร นักวิชาการเรื่องสัญชาติ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้เปรียบเสมือนเหรียญสองด้าน มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือ เป็น การเสริมสร้างความมั่นคงเชิงประชากร ทำให้ฐานข้อมูลในทะเบียนราษฎรแน่นมากขึ้น ส่วนการป้องกันคนต่างด้าวสวมสิทธิ์สัญชาติไทยนั้น เป็นหน้าที่โดยตรงของเจ้าหน้าที่รัฐอยู่แล้ว สำหรับข้อเสียคือ เป็นการเปิดช่องให้มีการทุจริตในหน่วยงานราชการทุกระดับอย่างมาก
สำหรับเด็กไร้รากเหง้าที่ไม่มีใบเกิดนั้น มีกฎหมายให้เข้าไปอยู่ในสถานสงเคราะห์ในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความ มั่นคงของมนุษย์ และใช้ระยะเวลานานหลายปีในการให้ได้มาซึ่งสัญชาติไทย กฎหมายฉบับนี้ก็จะไม่มีผลกระทบต่อเด็กกลุ่มนี้